โมเดลไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในขณะนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาองค์กรและธุรกิจของตนให้สอดรับกับการเป็นยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการเติบโตแบบ 4.0 ในเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี การพัฒนาชุมชน การพัฒนาทักษะแรงงาน และการลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคมให้เชื่อมโยงกับโลกที่มีการเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นพลวัต

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่

1. ด้านอุปสงค์ – การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและพัฒนาไปสู่การใช้งานระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในแผนการผลิต

2. ด้านอุปทาน – การพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกๆ ด้านให้เกิดความครอบคลุมกับความต้องการในสังคม ในทุกสาขาการบริการ และการเสริมสร้างทักษะชั้นสูงของแรงงานเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน – การพัฒนามาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความทันสมัยและมีการยืดหยุ่น และการส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนา

4. ด้านเงินทุน – การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ตอบโจทย์กับการพัฒนาธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงของตลาด

สิ่งสำคัญที่ไทยเร่งผลักดันคือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพและมีความเข้มแข็ง เช่น สาธารณูปโภค และระบบการขนส่งสาธารณะ อีกทั้งการลงทุนที่ทำให้เครื่องจักรที่ทันสมัยและทักษะแรงงานของคนมีการทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งผลผลิตและผลสัมฤทธิ์ของงาน ปรับปรุงคุณภาพ และรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันได้อย่างสำเร็จ