ย้อนรอยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตไทย
เดิมในสมัยก่อนที่อุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาท ชุมชนดั้งเดิมของไทยมีพื้นฐานของการผลิตสินค้าหัตถกรรม การผลิตสินค้าในครัวเรือนหรือสินค้าประจำหมู่บ้าน ที่มีรูปแบบการผลิตและแปรรูปที่ไม่ซับซ้อน เช่น สินค้าการเกษตรแปรรูป ก่อนที่จะมีโรงสีข้าว โรงงานกระดาษ โรงเลื่อยไม้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่ในสมัยก่อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งการผลิตสิ่งทอ กระดาษ ข้าว น้ำตาล จะถูกกำกับดูแลด้วยรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการพัฒนาอย่างมีขีดจำกัด
ในช่วงปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยเริ่มมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม มีการออกกฎหมายที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะ จึงทำให้เกิดธุรกิจภาคเอกชนขยายตัวเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงนี้
ซึ่งเดิมทีไทยต้องพึ่งพากับสินค้านำเข้าเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาฐานการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งในช่วงปี 2515 ไทยเริ่มให้ความสนใจในการขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งมีส่วนเร่งขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิต อีกทั้งในขณะนั้นยังมีตลาดโลกขนาดใหญ่เป็นที่รองรับ ด้วยข้อได้เปรียบทางแรงงาน ทำให้ไทยมีพื้นที่ในการพัฒนาทางอุตสาหกรรมการผลิตให้เติบโตมาก
ไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตในการส่งออกสูงมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มขยายสินค้าเพื่อการส่งออกให้ครอบคลุมกับสินค้าประเภทต่างๆ เช่น อาหาร สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิค และเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ในการเข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จนทำให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตของภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน